การทำธุรกิจร้านเน็ตหรือร้านเกมส์ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูง ประกอบกับเป็นธุรกิจที่คนไม่มีความรู้ก็สามารถเข้ามาทำได้ เพียงแค่มีเงินลงทุน ทำให้หลาย ๆ ร้านเปิดใหม่ที่มีเจ้าของร้านที่ไม่มีความรู้ด้านการตลาด จะเน้นหนักไปที่การทำกลยุทธ์ด้านราคาเป็นสำคัญ
ร้านประเภทนี้ เจ้าของมักจะไม่มีความรู้ทางบัญชีและการเงิน เพราะหากเราคิดดูดี ๆ แล้ว เรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากมายดังนี้ คือ
- ค่าเช่าร้าน
- ค่าอุปกรณ์คอมฯ, โปรแกรม, เฟอร์นิเจอร์ และค่าตกแต่งร้าน
- ค่าจ้าง
- ค่าสิ้นเปลืองอื่น ๆ
ค่าใช้จ่ายรายการนี้ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง ทำเลที่ตั้งดีก็จะมีค่าเช่าสูง ทำเลที่ตั้งไม่ดีก็จะมีเค่าเช่าต่ำ บางท่านอาจจะให้บ้านพักของตนเองเป็นที่เปิดกิจการ แต่ท่านก็ต้องนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้เข้ามาคำนวนไว้ด้วย โดยคิดว่าหากท่านให้ผู้อื่นมาเช่า ท่านสมควรจะได้รายได้เท่าใดบวกเข้าไปในค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน แต่ละวัน
ค่าอุปกรณ์คอมฯ, โปรแกรม, เฟอร์นิเจอร์ และค่าตกแต่งร้าน
ค่าใช้จ่ายรายการนี้จะเป็นค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์และโปรแกรมต่าง ๆ ทั้งหมด ในส่วนตัวผมเองคิดที่ 3 ปี (สูงสุด 5 ปี) ก็นำค่าใช้จ่ายทั้งหมดบวกดอกเบี้ยเงินฝาก แล้วก็เอามาหารจำนวนปี เดือน วัน ก็จะได้เป็นค่าเสื่อมต่อวัน เมื่อครบตามจำนวนปีที่กำหนด หากเราสามารถขายอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ ก็ได้เป็นกำไรไปครับ
ค่าจ้าง
เป็นค่าใช้จ้างพนักงานและตัวเอง ก็ต้องกำหนดให้แน่ชัดลงไปว่าพนักงานเท่าไหร่ ตัวเองเท่าไหร่ แล้วก็นำมาหารจำนวนวัน ก็จะได้เป็นค่าใช้จ่ายต่อวัน โดยเฉพาะค่าจ้างของตนเอง ควรตั้งโดยดูองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง เช่น หากไปทำงานเป็นพนักงานกินเงินเดือน จะได้เท่าไหร่ ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของกิจการขนาดนี้ควรเป็นเท่าไหร่ อย่างผม ผมให้เงินเดือนตัวเองที่ 20,000 บาท ทั้ง ๆ ที่สมัยก่อนที่ผมทำงานเป็นพนักงานได้เฉลี่ยที่ 50,000 กว่าบาท เพราะผมมองว่าธุรกิจขนาดนี้ น่าจะเริ่มต้นเท่านี้ก่อน แต่ก็ยังมีโอกาสขยายกิจการเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนรายได้ก็จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ค่าสิ้นเปลืองอื่น ๆ
ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าน้ำยาทำความสะอาด ค่ากระดาษ ค่าหมึก ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เอาค่าใช้จ่ายจริง 3 เดือนย้อนหลังมาเฉลี่ย จะได้ทราบค่าใช้จ่ายขั้นต่ำโดยประมาณ แล้วมาหารจำนวนวัน ก็จะได้เป็นค่าใช้จ่ายต่อวัน
อย่างของผมเองค่าใช้จ่ายต่อวัน ประมาณ 2,400 บาท หากเดือนใดได้รายได้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่านี้ เดือนนั้นก็จะขาดทุน เดือนใดได้รายได้เฉลี่ยต่อวันสูงกว่านี้ ก็จะได้กำไร ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าเดือนเมษานี้มีโอกาสเท่าทุนหรือขาดทุน แต่เดือนก่อนหน้านี้ก็พอมีกำไรบ้าง
เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว เราก็จะรู้สถานะทางการเงินของตนเอง หากขาดทุนทุกเดือนก็ต้องกลับมาพิจารณาแล้วว่า ควรเลิกแล้วไปหากิจการอย่างอื่นทำ หรือกลับไปเป็นพนักงานเหมือนเดิม หรือหาทางพัฒนาธุรกิจ สร้างยอดขายให้ครอบคลุมรายจ่ายให้ได้
ร้านที่สามารถใช้กลยุทธ์ราคาต่ำ คือ 10 บาท เค้าอาจคำนวนว่ารายได้ขนาดนี้เมื่อคำนวนแล้วครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อวันของเค้าได้ ก็ต้องปล่อยให้เค้าดำเนินกิจการต่อไป แต่ถ้าหากเค้าตั้งโดยไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เชื่อได้เลยว่า เค้าจะเปิดกิจการไม่ได้นานหรอก
แล้วร้านที่มีค่าใช้จ่ายสูง แน่นอนก็ต้องตั้งราคาที่สูงกว่า แต่ในราคาที่สูงกว่านั้น อะไรล่ะที่สูงกว่า เช่น ค่าเช่าสูงกว่า ก็ต้องบริหารพื้นที่ในร้านให้เกิดรายได้มากที่สุด ค่าจ้างสูงกว่า ก็ต้องพัฒนาพนักงานให้เกิดทักษะในการทำงานที่สูงตามไปด้วย ก็ในเมื่อค่าบริการของเราสูงกว่าแล้ว ก็ต้องสร้างคุณค่าในสายตาผู้บริโภคให้สูงตามมูลค่าที่เค้าจะต้องจ่ายออกไป
แล้วถ้าทุกร้านราคาเท่ากันหมดล่ะ ทำอย่างไร ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าการตลาดมี 4 p เราก็ต้องกลับมาดูว่า p ตัวไหนของเราที่ด้อยกว่าคู่แข่ง product-เครื่องคอมฯและบริการต่าง ๆ หรือ? place-ทำเลหรือ? promotion-การตกแต่งร้านหรือ?
ก็ต้องออกสำรวจร้านคู่แข่งและประเมิณจุดแข็ง-จุดอ่อนของทั้งของเราและคู่แข่ง แล้ววางแผนปรับปรุงจุดอ่อนให้เท่าเทียมหรือดีกว่าคู่แข่ง พร้อมทั้งเสริมจุดแข็งให้ดียิ่งขึ้นไป หากทำได้
โดยการปรับปรุงจุดอ่อนนี้ต้องกำหนดเป็นกลยุทธ์ และนำมาใช้สร้างความแตกต่างให้ลูกค้าจำได้อย่างชัดเจน ว่าร้านของเรามีจุดเด่นอะไรที่ต่างจากร้านคู่แข่ง แล้วเราจะได้ไม่ต้องไปแข่งขันกันที่ราคาอย่างเดียว
ผมฝากให้ลองศึกษาธุรกิจร้านกาแฟเป็นตัวอย่างก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์บั๊ค โอบองแปง ร้านกาแฟโบราณ ลองนั่งคิดวิเคราะห์ดูว่าทำไมเค้ายังอยู่กันได้
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ
แสดงความคิดเห็น